ปลอกหมอนคู่รัก Doctor, Dortor, Pleasse Check you love! ได้แรงบันดาลใจในการออกแบบจากการที่ฮิวแมนทัชต้องการให้ทุกคู่รักหมั่นดูแลหัวใจของกันและกัน ดีไซน์นี้มีพิมพ์บนปลอกหมอนคู่รัก ปลอกหมอนยาวบอดี้ ถ้วยกาแฟและแก้วน้ำคู่รัก
"รักษ์ด้วยรัก"... ดอกเตอร์แดน บีช แบรดลีย์ มิชชันนารีอเมริกันและประวัติศาตร์การแพทย์แผนปัจจุบันของไทย
ขอขอบคุณคุณวินทร์ เลียววาริณ ที่เรียบเรียงเรื่องราวประวัติศาสตร์การแพทย์แผนปัจจุบันของไทย ซึ่งเกิดขึ้นจากหัวใจที่เปี่ยมศรัทธาในคริสตศาสนา ความหวังที่จะนำข่าวประเสริฐมาให้แก่ชาวสยาม และความรักที่มีต่อพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์ ของมิชชันนารีอเมริกัน ดอกเตอร์แดน บีช แบรดลีย์
ชาวบ้านมุงกันข้างนอกโอสถศาลา พวกเขาคุยกันว่าหมอคนใหม่จะตัดแขนพระ พวกเขาเชื่อว่าหากใครถูกผ่าตัดจะต้องตาย
วันก่อนในงานฉลองที่วัดประยุรวงศ์ กระบอกบรรจุดินดำทำพลุแตกระเบิด คนตายแปดคน พระรูปหนึ่งได้รับบาดเจ็บสาหัสที่แขน ไม่มีหมอชาวบ้านคนใดรักษาได้ และหากไม่ทำอะไร แผลจะเน่า พระจะมรณภาพ ชาวบ้านพาพระไปยังที่พึ่งสุดท้าย บ้านหมอฝรั่ง
วันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2380 หมอฝรั่งทำการผ่าตัดเป็นครั้งแรกในแผ่นดินสยาม การตัดแขนผ่านไปด้วยดีโดยไม่มียาสลบ พระรูปนั้นมีชีวิตรอด
หมอฝรั่งเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากอเมริกา สู่โลกใหม่ที่เขาไม่เคยเห็น ชีวิตเขาเต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลง
หมอฝรั่งเป็นหมอ แต่เมื่อมาอยู่เมืองไทย เขากลายเป็นปลัด - ปลัดเล
……………….
แดน บีช แบรดลีย์ (Dan Beach Bradley) ชาวอเมริกัน ป่วยเมื่ออายุยี่สิบ หูมีอาการหนวก เขาสวดภาวนาในโบสถ์ขอให้หายจากอาการป่วย ต่อมาเขาก็หายป่วย และเลื่อมใสในศาสนาอย่างยิ่ง เขาศึกษาวิชาแพทย์เพื่อที่จะทำงานเป็นมิชชันนารี เผยแผ่ศาสนาคริสต์
เขาสมัครเป็นแพทย์มิชชันนารีใน American Board of Commissioners for Foreign Missions ทำงานในแผ่นดินไกลโพ้น
เขาเลือกเดินทางไปสยาม
ในปี พ.ศ. 2377 หมอแบรดลีย์เดินทางจากเมืองบอสตัน ไปพร้อมกับเอมิลี ภรรยาและมิชชันนารีกลุ่มหนึ่ง พวกเขาถึงประเทศพม่าในปลายปีนั้น แล้วเดินเรือต่อไปที่สิงคโปร์ ใช้ชีวิตในสิงคโปร์หลายเดือนก่อนเดินทางต่อไปสยาม
เรือพากลุ่มมิชชันนารีถึงกรุงเทพฯราตรีวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2378 รัชสมัยรัชกาลที่ 3
เอมิลีกล่าวว่า “สุขสันต์วันเกิดปีที่ 31”
ใช่ วันเหยียบแผ่นดินไทยเป็นวันเกิดของเขา
และเป็นวันเกิดของเรื่องใหม่ๆ มากมายของสยามประเทศ
……………….
หมอแบรดลีย์เปิดโอสถศาลาแห่งแรกในสยามข้างวัดเกาะ (วัดสัมพันธวงศ์) รักษาคนไข้และเผยแผ่ศาสนาคริสต์ การรักษาประสบความสำเร็จ ตรวจคนไข้นับร้อยคนต่อวัน ชาวบ้านเรียกหมอว่า หมอบรัดเลย์บ้าง ปลัดเลบ้าง
เป็นที่มาของ ‘ปลัด’ ฝรั่งในแผ่นดินไทย
วันหนึ่งเจ้าของที่ดินแจ้งเขาว่า “พวกคุณต้องย้ายออกจากที่นี่”
“ทำไม?”
“ทางการกดดันผม เนื่องจากย่านนี้มีคนจีนมาก ทางการกลัวว่าการที่คุณมารักษาคนแถวนี้จะทำให้คนจีนกระด้างกระเดื่อง ยากต่อการปกครอง”
“แล้วเราจะไปที่ไหน?”
“คุณอาจย้ายไปที่กุฎีจีน ถิ่นชาวโปรตุเกส”
ปลัดเลย้ายโอสถศาลาไปแถวกุฎีจีน บริเวณใกล้โบสถ์วัดซางตาครูซ จุดเดียวกับร้านชักภาพของ ฟรานซิศ จิตร เช่าที่ดินหน้าวัดประยุรวงศาวาสของเจ้าพระยาพระคลัง ผู้ต่อมาคือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) เปิดทำการโอสถศาลาใหม่เมื่อเดือนตุลาคม 2378
……………….
หลังการผ่าตัดพระสำเร็จ หมอบรัดเลย์แสดงฝีมืออีกหลายครั้ง เช่น ผ่าตัดก้อนเนื้องอกออกจากหน้าผากของชายผู้หนึ่งสำเร็จ ต่อมาก็ผ่าตัดรักษาต้อกระจก ต้อเนื้อ สำเร็จ ผู้คนเริ่มเชื่อถือการรักษาโรคด้วยการแพทย์แผนปัจจุบัน
เขาต้องใช้เวลานานพอสมควรจึงโน้มน้าวใจคนไทยให้เชื่อเรื่องการปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษด้วยเชื้อหนอง เริ่มที่ปลูกฝีให้กับชาวต่างชาติในสยาม เมื่อชาวบ้านเห็นว่าป้องกันฝีดาษได้จริง จึงยอมปลูกฝีกัน
ความสำเร็จครั้งนี้ทำให้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานเงินก้อนหนึ่งซื้อเชื้อหนองฝีโคที่นำเข้าจากสหรัฐอเมริกา อีกทั้งทรงให้แพทย์หลวงศึกษาวิธีการปลูกฝีจากหมอบรัดเลย์
หมอบรัดเลย์พยายามชี้แนะให้คนไทยเลิกธรรมเนียมการอยู่ไฟหลังคลอด เพราะเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของมารดาหลังคลอด
ขณะที่หมอบรัดเลย์รักษาคนไข้ ภรรยาเอมิลีก็เป็นครูสอนภาษาอังกฤษในวัง
การรักษาแบบตะวันตกของหมอบรัดเลย์เข้าถึงพระกรรณเจ้าฟ้ามงกุฎ (ต่อมาคือรัชกาลที่ 4) ซึ่งเวลานั้นผนวชอยู่ที่วัดราชาธิวาสราชวรวิหาร รับสั่งให้หมอเข้าเฝ้า เพื่อถวายการรักษาพระโรคลมอัมพาตจนทุเลา หมอบรัดเลย์จึงได้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทตั้งแต่นั้น ทรงสนทนาเรื่องทั่วไปในโลก ทั้งวิทยาศาสตร์และอื่นๆ
หมอบรัดเลย์ยังทำหน้าที่เป็นผู้ร่างและแปลจดหมายภาษาอังกฤษถวายงาน ไปจนถึงการทำหน้าที่ล่ามในการเจรจาการค้ากับฝ่ายตะวันตก
……………….
ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่มาถึงเมื่อฝ่ายศาสนาในสหรัฐฯตัดสินใจยุติการสนับสนุนภารกิจของพวกมิชชันนารีในสยาม คณะมิชชันนารีพากันกลับบ้าน แต่หมอบรัดเลย์ต้องการอยู่ต่อ
เขาบอกภรรยาว่า “หากจะอยู่ต่อไป เราต้องมีรายได้เพียงพอ”
“เราจะทำอะไร?”
“คณะมิชชันนารีทิ้งแท่นพิมพ์ไว้ เราสามารถดำเนินกิจการการพิมพ์เป็นภาษาไทย”
“แต่ตัวพิมพ์ไทย...”
“เราสามารถนำตัวพิมพ์จากสิงคโปร์หรืออินเดียมาใช้ชั่วคราวไปก่อน แล้วค่อยประดิษฐ์ตัวพิมพ์ไทยขึ้นเอง”
ในปี พ.ศ. 2382 ราชสำนักว่าจ้างหมอบรัดเลย์ตีพิมพ์เอกสารประกาศของราชการ เช่น ประกาศห้ามสูบและค้าขายฝิ่น พิมพ์จำนวนเก้าพันฉบับเผยแพร่ชาวบ้าน
ในปี 2384 หมอบรัดเลย์หล่อตัวพิมพ์ในประเทศไทยสำเร็จครั้งแรก หนึ่งในงานสิ่งพิมพ์ชิ้นแรกๆ คือ ครรภ์ทรักษา หนา 200 หน้า เป็นตำราการคลอดและวิธีรักษาโรค
งานพิมพ์ในยุคแรกของหมอบรัดเลย์เป็นงานเผยแพร่ศาสนาเป็นหลัก แต่เพื่อให้มีรายได้พอ จึงเริ่มพิมพ์งานอื่นๆ ที่ไม่ใช่การเผยแผ่ศาสนาคริสต์
วันที่ 4 กรกฎาคม 2387 หมอบรัดเลย์ออกหนังสือพิมพ์ฉบับแรกของสยาม ชื่อ หนังสือจดหมายเหตุ บางกอกรีคอเดอ (Bangkok Recorder) เขาทำหน้าที่ทั้งบรรณาธิการและนักเขียน เสนอข่าวสารทั้งในประเทศและต่างประเทศ ข้อมูลวิทยาการต่างๆ การแพทย์ การพาณิชย์ของสยามและต่างประเทศ พงศาวดารต่างๆ
……………….
ความเปลี่ยนแปลงอีกครั้งหนึ่งมาเยือนเมื่อเอมิลีเสียชีวิตด้วยวัณโรค เขาจึงพาลูกสามคนกลับสหรัฐอเมริกา ระหว่างปี พ.ศ. 2390-2393
สามปีต่อมา เขาก็กลับมาสยามอีกครั้งโดยได้ทุนสนับสนุนจากสมาคมมิชชันนารีอเมริกัน ครั้งนี้เดินทางมากับภรรยาคนใหม่ ซาราห์ แบลกลี (Sarah Blachly)
เช่นเดียวกัน แหม่มซาราห์สอนภาษาอังกฤษในราชสำนัก
ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอีกครั้งในบ้านเมืองเมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 2394 ดำรงอยู่ในราชสมบัติ 27 ปี พระราชวงศ์และเสนาบดีมีมติเห็นชอบให้ถวายราชสมบัติแก่พระมงกุฎ วชิรญาณะ เป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ปีถัดมา รัชกาลที่ 4 พระราชทานที่ดินให้หมอบรัดเลย์และมิชชานารีปลูกบ้านและโรงพิมพ์บริเวณปากคลองบางกอกใหญ่ ใกล้ป้อมวิชัยประสิทธิ์ งานพิมพ์จำนวนมากก็หลั่งไหลออกจากแท่นของหมอบรัดเลย์ เช่น ตำราเรียนภาษาไทย ประถม ก. กา งานวรรณคดีต่างๆ ตำราแพทย์ พจนานุกรมบาลี นิราศลอนดอน, จินดามณี ราชาธิราช สามก๊ก เลียดก๊ก ไซ่ฮั่น ไปจนถึงราชกิจจานุเบกษาฉบับแรกของสยามเมื่อ พ.ศ. 2401
ในปี พ.ศ. 2404 หมอบรัดเลย์ไปหาหม่อมราโชทัย (ม.ร.ว. กระต่าย อิศรางกูร) กล่าวว่า “ข้าพเจ้าปรารถนาจะตีพิมพ์ นิราศเมืองลอนดอน ของหม่อม”
ในปี พ.ศ. 2400 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ม.ร.ว. กระต่าย อิศรางกูร ผู้มีความรู้ภาษาอังกฤษดี ได้รับโปรดเกล้าฯให้เป็นล่ามหลวงไปกับคณะราชทูตไทย เชิญพระราชสาสน์และเครื่องมงคลราชบรรณาการ เดินทางไปถวายสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย เป็นที่มาของต้นฉบับ นิราศเมืองลอนดอน ที่แต่งขึ้นหลังจากเดินทางกลับมาสองปี
หมอบรัดเลย์เสนอว่า “ข้าพเจ้าจะชำระค่าลิขสิทธิ์เป็นเงิน 400 บาท”
นับเป็นการซื้อขายลิขสิทธิ์ตีพิมพ์หนังสือครั้งแรกในสยาม
บิดาแห่งการพิมพ์ของสยามผลิตงานออกมาต่อเนื่อง พัฒนาวงการศึกษาไทยไปโดยปริยาย
……………….
ชาวบ้านมุงกันข้างนอกโอสถศาลา พวกเขาคุยกันว่าหมอบรัดเลย์กำลังป่วยหนัก หมอกำลังจะตาย
ปีนี้หมออายุ 69 การทำงานหนักและความชราภาพที่มาเยือนทำให้หมอล้มป่วยหนัก
หลังจากทำงานเพื่อแผ่นดินไทยมาเกือบสี่สิบปี หมอบรัดเลย์ก็เสียชีวิตเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2416 สิริอายุ 69 ปี ศพฝังที่สุสานโปรเตสแตนท์ บนถนนเจริญกรุง ริมแม่น้ำเจ้าพระยา
หมอฝรั่งจากโลกไปโดยไม่มีทรัพย์สมบัติ จดหมายเหตุพระราชกิจรายวันของในหลวงรัชกาลที่ 5 บันทึกว่า “ให้ช่วยในการก่อขุดศพหมอปลัดเลที่เงินยังขาดอยู่ 120 บาท ให้ทำรั้วเหล็กล้อมที่ฝังศพ 200 เหรียญ”
แหม่มซาราห์ แบลกลี ไม่ได้กลับไปอเมริกาเลยตลอดชีวิต นางเสียชีวิตเมื่อ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2436 อายุ 75 ปี หลังจากใช้ชีวิตในสยามยาวนาน 43 ปี ลูกของนางทุกคนเดินทางกลับอเมริกา ยกเว้นลูกสาวชื่อไอรีน (แหม่มหลิน) ยังอยู่เมืองไทยจนแก่ สั่งเสียว่าหลังจากเสียชีวิตให้มอบที่ดินให้กองทัพเรือ
แดน บีช แบรดลีย์ เป็นมากกว่าหมอ เป็นผู้ปฏิรูปประเทศ เป็นผู้ให้ความรู้ เป็นผู้เปลี่ยนแปลงสยาม เป็นเข็มทิศสังคมไทย
และที่สำคัญ เขาเป็นคนไทยด้วยหัวใจ
คนต่างชาติบางคนเป็นคนไทยยิ่งกว่าคนไทย ฝังหัวใจในแผ่นดินไทย ฝังร่างกายบนแผ่นดินไทย
หากพระเจ้าคือความรัก หมอบรัดเลย์ก็ทำงานของพระเจ้าสำเร็จลุล่วง
……………….
วินทร์ เลียววาริณ
คลิกอ่านต้นฉบับจริงได้ที่ https://www.facebook.com/winlyovarin)
คลิกอ่านประวัติของหมอปลัดเลเพิ่มเติมได้https://th.wikipedia.org/wiki/แดน_บีช_บรัดเลย์